top of page
Search

แมวพันธุ์แมวสก๊อตติสโฟลด์ อาหาร วิธีเลี้ยง นิสัย [พร้อมราคา] - Yora



ข้อมูลทั่วไปของแมวสก๊อตติสโฟลด์


แมวสก๊อตติชโฟลด์ถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์แมวยอดฮิตที่คนไทยและชาวต่างชาตินิยมเลี้ยง ด้วยจุดเด่นอยู่ที่หูพับ หัวกลม ตาโต คอสั้น ทำให้ดูเหมือนตุ๊กตา จนหลาย ๆ คนก็ตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็น โดยทั่วไปแมวสก๊อตติชโฟล์ดที่เราเห็นกันจะเป็นแบบขนสั้น แต่จริง ๆ แล้วก็มีแมวสก๊อตติชโฟลด์แบบขนยาวด้วย เป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากเลี้ยงแมวขนยาวและหูพับด้วย คนไหนพร้อมเป็นผู้ปกครองแล้ว เราไปทำความรู้จักแมวหูพับสุดน่ารักสายพันธุ์นี้ให้มากขึ้น ทั้งวิธีเลือกซื้อ การดูแล อาหารการกินของน้องแมว และที่สำคัญท้ายบทความเรายังมีฟาร์มแมวพร้อมราคาค่าตัวน้องแมวสก๊อตติชโฟลด์มาฝากอีกด้วย


 

ประวัติของแมวสก๊อตติสโฟลด์ (Scottish Fold Cat)


ประวัติของน้องแมวสก๊อตติชโฟลด์ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1961 ที่ประเทศสก็อตแลนด์ เมืองเพิร์ตเชียร์ มีคนไปพบลูกแมวสีขาวตัวหนึ่งในโรงนาชื่อว่า “ซูซี่” เป็นแมวหูพับท่ามกลางคอกลูกแมวหูตั้งตัวอื่น ๆ หลังจากโตขึ้นซูซี่ก็ได้ผสมพันธุ์กับแมวพันธุ์บริติชช็อตแฮร์หูตั้ง ส่วนลูกแมวที่ออกมาก็มีลักษณะหูพับด้วยเช่นกัน


ต่อมาจึงมีคนนำไปเลี้ยงและเริ่มแพร่หลายเป็นที่นิยมมาขึ้นในสก๊อตแลนด์และยุโรป หลังจากนั้นก็ได้แพร่กระจายความนิยมไปที่อเมริกา มีนักพัฒนาสายพันธุ์มากมายนำแมวสก๊อตติชโฟลด์ไปพัฒนาต่อจนมีสายเลือดที่แข็งแรง สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


สำหรับที่มาของชื่อสายพันธุ์ เดิมทีมีการเรียกชื่อสายพันธุ์นี้ว่า Lop หรือ Lop-ears ซึ่งเหมือนกับชื่อสายพันธุ์กระต่ายหูพับ หลังจากนั้นในปี 1966 ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อของสายพันธุ์มาเป็น “สก๊อตติชโฟลด์” ตามถิ่นกำเนิดและลักษณะเด่นของใบหูนั่นเอง


 

ลักษณะนิสัยของแมวสก๊อตติสโฟลด์



นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วสิ่งที่ทำให้เหล่าทาสตกหลุมรักแมวสก๊อตติชโฟลด์ ก็คือนิสัยขี้เล่น ชอบเล่นของเล่นแมว แต่ก็ไม่ซนจนเกินไป ไม่ปีนป่ายหรือกัดทำลายข้าวของ เมื่อเทียบกับแมวที่รูปร่างปราดเปรียวสายพันธุ์อื่น ๆ ค่อนข้างอ่อนโยน ใจดี ชอบอยู่กับเจ้าของ สามารถเลี้ยงกับเด็กเล็กและสัตว์อื่นได้ดี


 

มาตรฐานสายพันธุ์เเละลักษณะทางร่างกายที่ดีสำหรับแมวสก๊อตติสโฟลด์


วิธีเลือกซื้อลูกแมวสก๊อตติชโฟลด์ เมื่อตัดเรื่องของราคาและอื่น ๆ ออกไป ลักษณะที่ดีสำหรับแมวสก๊อตติชโฟลด์ก็คือ หัวกลม หูพับแนบพอดีกับหัว (ในกรณีที่ต้องการแบบหูพับ เพราะแมวสก๊อตติชโฟลด์มีแบบหูตั้งด้วย) นอกจากนี้ลำตัวกลัว หางยาว ความยาวหางเมื่อพับขึ้นมาจะอยู่ประมาณไหล่ หางไม่แข็ง ไม่หักงอ เท่านี้ก็ถือเป็นน้องแมวสก๊อตติชโฟลด์ที่มีลักษณะพื้นฐานดี พร้อมย้ายบ้านแล้ว


นอกจากลักษณะพื้นฐานในการเลือกซื้อลูกแมวแล้ว มาดูที่ลักษณะโดยรวมของแมวสายพันธุ์นี้กันบ้าง อย่างที่บอกไปคือ แมวสก๊อตติชโฟลด์เป็นแมวที่มีใบหูพับเป็นจุดเด่นของสายพันธุ์ ทำให้บางคนมองว่าน่ารักเหมือนโดเรม่อน หัวเหมือนลูกชิ้น หรือบางคนก็บอกว่าเหมือนนกฮูกเนื่องจากมีดวงตากลมโต แต่นอกจากหูพับแล้วก็ยังมีสก๊อตติชโฟลด์แบบหูตั้งเช่นกัน โดยลัษณะหูตั้งหรือหูพับจะเริ่มแสดงให้เห็นเมื่ออายุได้ 3 สัปดาห์ขึ้นไป และมีขนาดใบหูที่เล็ก นอกจากนี้ก็ยังมีทั้งแบบขนสั้นและขนยาวอีกด้วย


ในส่วนของโครงสร้างร่างกายแมวสายพันธุ์นี้เป็นแมวขนาดกลาง น้ำหนักตัวเต็มไวจะอยู่ที่ 4 - 5 กิโลกรัม ศีรษะกลม หน้าผากโค้งได้รูป กระบอกปากไม่ยื่นยาว คอสั้น ลำตัวไม่สั้นหรือยาวเกินไป ขาสั้นไปจนถึงยาวปานกลางและตันดูแข็งแรง ลักษณะขนของแมวสก็อตตอชโฟลด์คือ จะมีขนหนา แน่น ทั้งแบบขนสั้นและขนยาว ส่วนสีของขนมีทั้งสีขาว สีบลู สีดำ สีส้ม สีครีม หรือสีหายากอย่างสีช็อกโกแลต มาพร้อมลายต่าง ๆ เช่นเดียวกับแมวสายพันธุ์ทั่วไป ทั้งลาย Tabby ลายเสือ ลายเปรอะ อายุโดยเฉลี่ยของแมวสายพันธุ์นี้อยู่ที่ 11 - 14 ปี


 

การผสมพันธุ์แมวสก๊อตติชโฟลด์


สำหรับใครที่ซื้อแมวสก๊อตติชโฟลด์ไปเลี้ยงที่บ้านแล้วอยากมีลูกแมว สิ่งหนึ่งที่ต้องห้ามเลยคือ ห้ามผสมพันะธุ์แมวสก๊อตติชโฟลด์แบบหูพับด้วยกันทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เพราะลักษณะหูพับเกิดจากยีนด้อย การจับยีนด้อยมาผสมกันจะทำให้ลูกแมวสก๊อตติชโฟลด์ที่ออกมาไม่แข็งแรง และมีปัญหาโรคข้อต่อและกระดูกได้ หรือหากไม่มั่นใจสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนให้น้องผสมพันธุ์กันเพื่อเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกแมว


 

โรคที่ต้องระวังในแมวสก๊อตติสโฟลด์



ในการเลี้ยงแมวสก๊อตติชโฟลด์จำเป็นต้องศึกษาเรื่องของโรคที่อาจเกิดขึ้นในแมวสายพันธุ์นี้ได้ ดังนี้


  • Osteochondrodysplasia: เป็นหนึ่งในโรคประจำตัวของน้องแมวสายพันธุ์นี้เลยก็ว่าได้ เพราะยีนของน้องแมวที่ทำให้ได้หูพับเกิดจากลักษณะยีนด้อยของกระดูดอ่อนหู ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดกับข้อต่อหรือกระดูดอ่อนส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หาง อุ้งเท้า กระดูกขา สันหลัง ฯลฯ อาการที่พบคือหางแข็ง มีปุ่มนูนตรงกระดูก ขาแข็ง แมวไม่กระโดด จับแล้วมีอาการเจ็บ ถ่ายลำบาก อาการสามารถเริ่มแสดงได้ตั้งแต่แมวอายุ 2 เดือน โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถทำการศัลยกรรมเพื่อตัดกระดูกได้ หรือให้ยาและรักษาตามอาการ หาพบอาการเหล่านี้ให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด

  • Polycystic Kidney Disease: หรือโรคถงน้ำในไต ซึ่งเป็นอีกโรคที่สามารถพบได้ในน้องแมวสก๊อตติชโฟลด์ ทำให้ไตทำงานผิดปกติ และส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะไตวาย ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการจนอายุมากขึ้น สามารถพาน้องแมวไปตรวจไตได้ตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเลี้ยงการทำงานหนักของไต ส่วนการรักษาโรคนี้ทางสัตวแพทย์จะรักษาตามอาการ โดยให้ยาและปรับเรื่องของอาหารร่วมด้วย

  • Feline HypertrophicCardiomyopathy: เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวในแมว ถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยในแมวสายพันธุ์อื่นด้วยเช่นกัน อาการคือเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ขาหลังอ่อนแรง หายใจลำบาก สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาเพื่อให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้นเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน อย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและภาวะหัวใจล้มเหลว


อาหารที่เหมาะสมสำหรับแมวสก๊อตติสโฟลด์




ความต้องการทางโภชนาการของแมวสก๊อตติชโฟลด์ไม่แตกต่างจากแมวสายพันธุ์อื่นมากนัก อาหารที่เจ้าของสามารถให้น้องกินได้ คือ อาหารเม็ด อาหารเปียก อาหารทำเอง ขนมแมวเลีย และวิตามินเสริม


อาหารสำหรับลูกแมวสก๊อตติชโฟลด์ 3 เดือนขึ้นไป


จำเป็นต้องให้กินอาหารแมวสูตรเด็กไปก่อน โดยให้สอบถามกับทางฟาร์มว่าให้อาหารอะไร หรือยี่ห้อไหนมาก่อนเพื่อไม่ให้น้องแมวรู้สึกเครียดที่ต้องปรับตัวเรื่องอาหารพร้อมกับปรับตัวเรื่องสถานที่หลังรับเลี้ยง สลับกับการให้อาหารเปียกเพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอด้วย


อาหารสำหรับแมวสก๊อตติชโฟลด์ 12 เดือนขึ้นไป


เมื่อแมวหูพับหรือสก๊อตติชโฟลด์เริ่มเข้าสู่ช่วงแมวโต เจ้าของสามารถค่อย ๆ เปลี่ยนอาหารเม็ดเป็นสูตรแมวโต แต่ควรดูเรื่องปริมาณอาหารที่ไม่มากเกินไป เพราะปกติแล้วแมวสายพันธุ์นี้มักจะขยับตัวหรือออกกำลังกายน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ทำให้ใช้พลังงานน้อยกว่าและส่งผลให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ได้ง่าย สามารถสลับให้อาหารเปียก หรืออาหารทำเอง เช่น ไก่ต้น ปลาต้ม ฯลฯ ก็จะช่วยให้ขนาดตัวใหญ่ และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น


อาหารสำหรับลูกแมวสก๊อตติชโฟลด์ 9 ปีขึ้นไป


หลังจากน้องแมวเข้าสู่ปีที่ 9 เจ้าของสามารถเริ่มเปลี่ยนไปให้อาหารสูตรแมวสูงอายุได้ เนื่องจากกิจกรรมที่ทำน้อยลง ปริมาณพลังงานที่ต้องการก็น้อยลง และหากน้องแมวมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนการเลือกอาหารที่ตอบโจทย์กับสุขภาพร่างกาย


นอกจากนี้การให้น้ำแมวสก๊อตติชโฟลด์ ควรมีการวางน้ำพุแมวไว้หลาย ๆ จุด และทำความสะอาดเป็นประจำ เพราะแมวมีนิสัยรักสะอาด และไม่ชอบดื่มน้ำนิ่ง การใช้น้ำพุจึงเป็นการกระตุ้นให้แมวดื่มน้ำมากขึ้น ช่วยลดโอกาสเกิดโรคไตในแมวได้


 

วิธีการดูแลแมวสก๊อตติสโฟลด์ตั้งแต่เป็นลูกแมวจนถึงโตเต็มวัย




การดูแลลูกแมวสก๊อตติสโฟลด์ช่วง อายุ 1-3 เดือน


เมื่อรับน้องแมวสก๊อตติชโฟลด์มาเลี้ยง ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการปรับตัวกับสถานที่ใหม่ ส่วนอาหารควรให้แบบที่ฟาร์มเดิมให้มาก่อน หากจะเปลี่ยนควรค่อย ๆ ลดปริมาณลง นอกจากนี้การเลี้ยงลูกแมวสก๊อตติชโฟลด์ จำเป็นต้องทำความสะอาดใบหู การแปรงขน และแปรงฟัน เพื่อให้ลูกแมวได้ค่อย ๆ ทำความคุ้นเคย


การดูแลแมวสก๊อตติสโฟลด์โตเต็มวัย อายุ 1 ปีขึ้นไป

  • การแปรงขน: ควรแปรงขนให้น้องแมวสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะแมวสก๊อตติชโฟลด์แบบขนยาว จำเป็นต้องแปรงขนบ่อยมากขึ้นเพื่อกำจัดเส้นขนที่ตายแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ขนพันเป็นก้อน และทำให้สุขภาพขนดีดูสวยงามมากขึ้น

  • การอาบน้ำ: แมวไม่ต้องการการอาบน้ำบ่อยเหมือนสุนัข แต่อย่างน้อยควรอาบน้ำเดือนละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะน้องแมวขนยาว โดยให้ใช้แชมพูสำหรับแมวเท่านั้น

  • การทำความสะอาดหู: เนื่องจากใบหูของแมวสก๊อตติชโฟลด์แมขนาดเล็ก และถ้ายิ่งเป็นแมวหูพับอาจทำให้เกิดความชื้นในใบหูและเกิดความสกปรกได้ง่าย ควรทำความสะอาดโดยการเช็ดหูด้วยน้ำยาเฉพาะอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง

  • การตัดเล็บ: ควรตัดเล็บอย่างน้อย 2 สัปดาห์ครั้ง และมีที่ลับเล็บไว้ให้น้องแมวได้ลับด้วย ทำให้เล็บไม่แหลมเกินไป

  • การดูแลฟัน: ควรแปรงฟันให้แมวสก๊อตติชโฟลด์อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพฟันแลเหงือก และควรเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวเพื่อให้เกิดการคุ้นชิน

  • กะบะทรายแมว: แมวสก๊อตติชโฟลด์เป็นแมวที่รักความสะอาด ดังนั้นเจ้าของต้องทำความสะอาดโดยการตักกะบะทรายแมวทุกวัน และดูแลให้สะอาดเรียบร้อย นอกจากนี้จำนวนกะบะทรายที่เหมาะสมคือ 2 ถาดต่อแมว 1 ตัว

  • การตรวจสุขภาพ: ควรมีการพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปีเพื่อรับวัคซีนและตรวจเช็กสุขภาพ โดยเฉพาะแมวสก๊อตติชที่เริ่มแก่ ควรมีการพบสัตวแพทย์ปีละ 2 ครั้งเพื่อเช็กอาการของโรคประจำสายพันธุ์โดยเฉพาะโรคกระดูก และทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ

 

แมวสก๊อตติสโฟลด์สีต่าง ๆ พร้อมราคาแมวพันธุ์สก๊อตติสโฟลด์

โดยทั่วไปแล้วน้องแมวสก๊อตติชโฟลด์ราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่นและสามารถแพงได้ถึงระดับหลักแสน โดยเฉพาะแมวน้ำเข้าสายประกวด นอกจากนี้ราคาขึ้นอยู่กับโครงสร้าง สีหายาก และสายเลือด แบ่งได้คร่าว ๆ ดังนี้


  • แมวสก๊อตติชสีพื้นฐาน สีดำ สีส้ม สีครีม ราคาเริ่มต้นที่ 15,000 - 20,000 บาท

  • แมวสก๊อตติชโฟลด์สีหายากอย่างสีช็อกโกแลต สีขาวตาสองสี สีลาเวนเดอร์ ราคาเริ่มต้น 60,000 บาท


5 อันดับฟาร์มแมวสก๊อตติสโฟลด์ยอดนิยมในประเทศไทย


บทความนี้ก็ได้พาทุกคนมาทำความรู้จักกับแมวสก๊อตติชโฟลด์กันมากขึ้น ด้วยความน่ารักและหูพับที่เป็นลักษณะเด่นของสายพันธุ์ ทำให้ใคร ๆ ก็อยากจะรับเลี้ยง แต่สิ่งสำคัญคือการเอาใจใส่เรื่องของสุขภาพโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับกระดูก และการนำไปผสมพันธุ์ต่อจะต้องศึกษาให้ละเอียด เนื่องจากหูพับของน้องเป็นยีนด้อยจึงมีข้อจำกัดมากมายที่ต้องระวัง รวมถึงการเลือกอาหารที่ดี มีประโยชน์ เหมาะสมกับสายพันธุ์ และอย่าลืมว่าต้องให้เวลา คอยเล่น คอยใส่ใจน้องแมวสก๊อตติชโฟลด์ด้วย เท่านี้เจ้าแมวหูพับของเราก็จะเติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุขอย่างแน่นอน


106,767 views1 comment
bottom of page