top of page
Search

หมาชัก: อาการ สาเหตุ การดูแลเบื้องต้นและการป้องกัน



เชื่อว่าทุกคนที่เลี้ยงน้องหมาคงเคยได้ยินเรื่องอาการชักในสุนัขกันมาบ้างนะครับ บางคนอาจจะเคยเจอกับตัวเอง หรือได้ยินมาจากเพื่อนที่เลี้ยงหมากันมา วันนี้ Yora Thailand จะพาไปทำความเข้าใจเรื่องอาการชักในสุนัขกันแบบละเอียดยิบ เพื่อให้เพื่อน ๆ สามารถดูแลน้องหมาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น



 

อาการชักในสุนัขคืออะไร?

อาการชักในสุนัขเป็นภาวะที่สมองทำงานผิดปกติชั่วคราวโดยมีการปลดปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อแบบควบคุมไม่ได้คล้าย ๆ กับไฟฟ้าลัดวงจรในสมอง หากพ่อ ๆ แม่ ๆ ตกอยู่ในเหตุการณ์ที่น้องหมามีอาการ ชัก เกร็ง อย่าเพิ่งตกใจไป! เพราะอาการชักสามารถรักษาและควบคุมได้ ถ้าเรารู้วิธีจัดการที่ถูกต้อง แต่ก่อนหน้าที่เราจะไปดูการรักษา เรามาดูกันก่อนว่า การที่น้องหมาชัก เกิดจากอะไรได้บ้าง


สาเหตุของอาการชักในสุนัข


1. โรคลมชัก (Epilepsy) สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคลมชัก ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม  เกิดจากไฟฟ้าในสมองที่ทำงานผิดปกติ คล้ายกับวงจรไฟฟ้าที่ลัดวงจร ทำให้เซลล์ประสาทในสมองส่งสัญญาณพร้อมกันมากเกินไป ทำให้เกิดอาการชัก สุนัขบางพันธุ์มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคลมชักมากกว่าพันธุ์อื่นเนื่องจากพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมา เช่น 



2. พิษจากสารเคมี อีกสาเหตุที่พบบ่อยคือการที่น้องหมาได้รับสารพิษ เพราะโดยธรรมชาติของสุนัขที่ชอบสำรวจสิ่งแวดล้อมด้วยการดมและเลีย พวกเขาอาจได้รับสารพิษจากพืชบางชนิด ยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่อาหารของมนุษย์อย่างช็อกโกแลตที่มีสาร Theobromine ซึ่งเป็นพิษต่อสุนัข 


3. ปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพภายในร่างกายก็เป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะสำคัญอย่างตับและไต ซึ่งมีหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อการทำงานของอวัยวะเหล่านี้บกพร่อง สารพิษจะสะสมและส่งผลต่อระบบประสาท รวมถึงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ที่พบบ่อยในลูกสุนัขหรือสุนัขพันธุ์เล็ก เพราะร่างกายยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีและมีการสำรองพลังงานในร่างกายน้อย


4. ปัญหาด้านสมอง ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตรงกับสมองก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุ การเกิดเนื้องอกในสมอง หรือภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ ซึ่งอาการทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ประสาท ทำให้เกิดการส่งสัญญาณที่ผิดปกติและนำไปสู่อาการชักเกร็ง


 


ประเภทของการชักในสุนัข 


Status Epilepticus 


เป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายมาก เกิดขึ้นเมื่อสุนัขมีอาการชักติดต่อกันนานเกิน 5 นาที หรือชักซ้ำหลายครั้งโดยไม่ฟื้นสติระหว่างการชักแต่ละครั้ง สิ่งที่น่ากังวลคือ หากชักนานเกิน 30 นาที อาจทำให้สมองได้รับความเสียหายอย่างถาวร จำเป็นต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน


Cluster Seizure


เป็นกรณีที่สุนัขมีอาการชักมากกว่า 2 ครั้งในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง แม้ว่าสุนัขจะฟื้นสติระหว่างการชักแต่ละครั้ง แต่การชักที่เกิดถี่เกินไปก็เป็นอันตรายได้ เพราะร่างกายไม่มีเวลาพักฟื้นเพียงพอ


การชักเฉพาะส่วน (Focal/Partial Seizures) 


เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทในสมองเฉพาะบางส่วน ทำให้เห็นอาการผิดปกติในบางส่วนของร่างกายเท่านั้น เช่น กล้ามเนื้อใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งกระตุก ขาข้างเดียวเกร็ง หรือคอสั่น สุนัขอาจยังมีสติหรือหมดสติก็ได้ สิ่งที่ต้องระวังคือ บางครั้งการชักแบบนี้อาจลุกลามกลายเป็นการชักทั่วร่างกายได้


การชักทั่วร่างกาย (Generalized Seizure) 


เป็นการชักที่กระทบสมองทั้งหมด ทำให้สุนัขสูญเสียการควบคุมร่างกายทั้งตัว มักพบว่าสุนัขจะหมดสติและมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ตัวเกร็งและขากระตุกสลับกัน

  • กล้ามเนื้อทั้งสองข้างของร่างกายกระตุกพร้อมกัน

  • ไม่สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายได้ เช่น น้ำลายไหล ปัสสาวะหรืออุจจาระราด

  • บางครั้งอาจไม่เห็นการกระตุกชัดเจน แต่สุนัขจะหมดสติหรือมีอาการเหม่อลอย

ไม่ว่าจะเป็นการชักชนิดใด เจ้าของควรจดบันทึกรายละเอียดทุกครั้งที่สุนัขมีอาการ เช่น วันเวลาที่เกิด ระยะเวลาที่ชัก และลักษณะอาการ เพื่อช่วยให้สัตวแพทย์วินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม การรักษาที่เร็วและถูกต้องจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น 


อาการชักในสุนัขทั้ง 3 ช่วง 


ระยะก่อนชัก (Pre-ctal Phase) เป็นช่วงที่สุนัขอาจรับรู้ความผิดปกติบางอย่าง คล้ายกับที่มนุษย์ที่มีอาการชักมักจะรู้สึกถึงภาพ กลิ่น หรือความรู้สึกแปลก ๆ ก่อนจะมีอาการชัก  น้องหมาจะแสดงอาการผิดปกติ เช่น


  • กระวนกระวายผิดปกติ

  • แสดงพฤติกรรมที่แตกต่างจากปกติ 

  • วิ่งหางตก หาที่หลบซ่อน

  • จ้องเหม่อไปในอากาศ


ระยะชัก (Ictal Phase หรือ Seizure) นี่คือช่วงที่เกิดการอาการชักจริง โดยส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้


  • ขาดการรับรู้สิ่งแวดล้อม

  • ล้มลงไปด้านใดด้านหนึ่งและกล้ามเนื้อเกร็ง

  • แขนขากระตุกเหมือนว่ายน้ำ

  • งับอากาศ

  • อาการเคี้ยวหรือกัดกราม

  • น้ำลายไหล

  • ส่งเสียงร้อง

  • อาจมีการปัสสาวะหรืออุจจาระโดยไม่รู้ตัว


ระยะหลังชัก (Post-ictal Phase) หลังจากอาการชักสิ้นสุดลง น้องหมาจะเข้าสู่ระยะหลังชัก ซึ่งอาจมีอาการต่อไปนี้ 


  • ซึม เฉื่อยชา

  • กระวนกระวาย

  • เดินโซเซ

  • เดินวน สับสน มึนงง อาการคล้ายตาบอด


ระยะนี้อาจกินเวลาตั้งแต่ไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง โดยหากการชักรุนแรงและนานมาก ระยะหลังชักก็มักจะยาวนานและมีอาการชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย


 


วิธีรับมือเมื่อน้องหมาชัก: คู่มือฉุกเฉินสำหรับเจ้าของ


เมื่อสุนัขของเพื่อน ๆ มีอาการชัก สิ่งแรกที่สำคัญที่สุด แม้จะทำได้ยาก คือการควบคุมสติและไม่ตื่นตระหนก เพราะโดยทั่วไปแล้วอาการชักมักจะเกิดขึ้นเพียงประมาณหนึ่งนาทีและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาว อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่อาการชักอาจเป็นอันตรายและจำเป็นต้องพบสัตวแพทย์โดยด่วน


สัญญาณอันตรายที่ต้องพบสัตวแพทย์ทันที:


  • อาการชักที่นานเกิน 5 นาที

  • การชักติดต่อกันหลายครั้งโดยที่สุนัขไม่มีเวลาฟื้นตัวระหว่างอาการชักแต่ละครั้ง

  • มีอาการชักมากกว่า 2 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง


ในระหว่างที่สุนัขกำลังมีอาการชัก สิ่งที่คุณควรทำคือ


  1. เคลื่อนย้ายสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายออกจากบริเวณนั้น เช่น โคมไฟที่อาจล้มลงมาโดน หรืออุปกรณ์ที่อาจทำให้สุนัขบาดเจ็บ

  2. หากสุนัขอยู่ในจุดที่อันตราย เช่น บนบันได หรือกลางถนน ให้พยายามเคลื่อนย้ายเขาอย่างนุ่มนวลไปยังที่ที่ปลอดภัยกว่า

  3. อย่าพยายามใส่อะไรเข้าไปในปากของสุนัข เพราะอาจทำให้เขาหายใจลำบาก และคุณเองก็เสี่ยงที่จะถูกกัดจากอาการกัดฟันที่มักเกิดขึ้นระหว่างการชัก

  4. จับเวลาและอัดวิดีโอเอาไว้ เพื่อเก็บข้อมูลไว้ให้คุณหมอประเมิณลักษณะอาการ


หลังจากอาการชักสิ้นสุดลง


  1. ดูแลให้สุนัขอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและคอยเฝ้าสังเกตอาการจนกว่าเขาจะฟื้นตัวจากระยะหลังชัก (Post-ictal Phase) และกลับมามีพฤติกรรมปกติ สามารถทรงตัวได้ดี

  2. เมื่อสุนัขทรงตัวได้ดีและเริ่มมีพฤติกรรมเป็นปกติ คุณสามารถให้น้ำเล็กน้อยและพาออกไปขับถ่ายได้

  3. รอให้สุนัขฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก่อนที่จะให้อาหาร


เมื่อสุนัขมีอาการชัก เจ้าของควรเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ โดยจดบันทึกวันเวลาที่เกิดอาการ ระยะเวลาที่ชัก ความรุนแรง และสิ่งผิดปกติทั้งก่อนและหลังการชัก และสิ่งสำคัญคือต้องปรึกษาสัตวแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจร่างกายและอาจต้องทำการทดสอบเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดหรือ MRI เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง จากนั้นสัตวแพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม เช่นใช้ยาควบคุมอาการ โดยเจ้าของต้องให้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ



วิธีป้องกันอาการชักในสุนัข


แม้ว่าอาการชักในสุนัขบางประเภทเราก็ไม่สามารถป้องกันไม่ได้ เช่น โรคลมชักที่เกิดเองตามพันธุกรรมหรือเนื้องอกในสมอง แต่ก็สำหรับอาหารชักหลายสาเหตุเราสามารถช่วยป้องกันได้ มาดูกันว่าเราจะดูแลน้องหมาของเราอย่างไรให้ห่างไกลจากความเสี่ยงเหล่านี้


  • เรื่องแรกที่สำคัญมากๆ คือการพาน้องไปฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพราะโรคติดเชื้อบางอย่าง โดยเฉพาะโรคไข้หัดสุนัข สามารถทำให้น้องชักได้ ฉีดวัคซีนไว้ดีกว่ามานั่งเสียใจทีหลัง

  • เรื่องที่สองคือการดูแลความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เวลาพาน้องออกไปเที่ยวข้างนอก อย่าลืมใส่สายจูงให้เรียบร้อย หรือถ้าปล่อยให้วิ่งเล่น ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่มีรั้วล้อมรอบ เพราะเราไม่อยากให้น้องวิ่งออกไปบนถนนแล้วเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการกระทบกระเทือนที่หัวอาจทำให้เกิดอาการชักได้

  • ในบ้านเองก็ต้องระวัง โดยเฉพาะเรื่องการเก็บยาและสารเคมีต่าง ๆ ให้มิดชิด ไม่ว่าจะเป็นยาของคนในบ้าน ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือแม้แต่น้ำยาหม้อน้ำรถ ต้องเก็บให้พ้นมือเด็กและพ้นจากน้องหมา เพราะถ้าน้องเผลอกินเข้าไป นอกจากจะเป็นพิษแล้ว ยังอาจทำให้ชักได้อีกด้วย

  • สุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการพาน้องไปตรวจสุขภาพและเจาะเลือดตามที่หมอนัด การตรวจสุขภาพประจำจะช่วยให้เราเจอปัญหาได้เร็ว โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับตับหรือไต ซึ่งถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้น้องมีอาการชักได้


 

การที่น้องหมาชักอาจดูน่ากลัว แต่ถ้าเรารู้วิธีรับมือและดูแลที่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างที่คิด! หากคุณพบว่าน้องหมามีอาการชัก ควรตั้งสติและทำตามขั้นตอนที่แนะนำ พร้อมทั้งปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับการดูแลที่เหมาะสม เพราะน้อง ๆ ก็ต้องการความรักและการดูแลไม่ต่างเพื่อนคู่กายคนหนึ่งของเรา ที่ควรจะได้รับทั้งความรักและปัจจัย 4 ที่ดีไม่ต่างจากมนุษย์ และสำหรับปัจจัย 4 ที่สำคัญมากอย่างอาหาร เราก็ขอฝาก Yora อาหารสุนัขเกรด Holistic นำเข้าจากประเทศอังกฤษ ซึ่งทำมาจากโปรตีนแมลง ย่อยง่าย ให้โภชนาการสูง ไว้ด้วยนะครับ



 
 
 

12 תגובות


niyol18982
18 באפר׳
לייק

niyol18982
18 באפר׳
לייק

niyol18982
18 באפר׳
לייק

niyol18982
18 באפר׳
לייק

bottom of page