top of page
Search
Writer's pictureYORA Expert

หมาอ้วกเกิดจากอะไร? ทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีดูแลเมื่อน้องหมาอ้วก

เชื่อว่าทุกคนที่มีน้องหมาเป็นสมาชิกในครอบครัวต้องเคยเจอเหตุการณ์ที่น้องอ้วกออกมาสักครั้งสองครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เราใจหายและเป็นห่วงกันทุกที เพราะการอ้วกของน้องหมานั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางทีก็แค่ทานอะไรแปลก ๆ เข้าไป หรืออาจเป็นเพราะกินอาหารเร็วเกินไป แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าน้องกำลังมีปัญหาสุขภาพที่ต้องรีบพาไปหาหมอ 


ดังนั้น เราในฐานะทาสหมาที่รักน้องมาก ๆ จึงควรสังเกตอาการและเรียนรู้วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อน้องอ้วก เพื่อให้เรารู้จังหวะการรับมือ ความเหมาะสมในการพาน้องไปพบสัตวแพทย์ ถ้าพร้อมแล้ว ตาม Yora Thailand มาทำความเข้าใจสาเหตุของการอาเจียนในสุนัข ลักษณะ และวิธีการรับมือกันได้เลย! 



 


หมาอ้วกเกิดจากอะไรได้บ้าง? 


การอ้วกของน้องหมาอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งบางอย่างอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่บางเคสอาจต้องการการรักษาจากสัตวแพทย์โดยด่วน มาดูกันเลยว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง


1. อาหารไม่ย่อยหรือกินเร็วเกินไป 


สุนัขที่กินอาหารเร็วมักจะกลืนอาหารทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เคี้ยวให้ละเอียด ปัญหากินเร็วเป็นปัญหาพบได้บ่อยมากในลูกหมาและในน้องหมาบางสายพันธุ์อย่าง บูลด็อก เฟรนช์บูลด็อก ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ และดัชชุนเป็นต้น ทำให้กระเพาะต้องทำงานหนักในการย่อย นอกจากนี้การกินเร็วยังทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ ส่งผลให้เกิดอาการจุกเสียด และอ้วกในที่สุด วิธีแก้ไขคือใช้ชามชะลอการกิน หรือแบ่งอาหารให้กินทีละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้น


2. ภาวะกระเพาะบิด 


ภาวะกระเพาะบิดเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มีช่องอกลึก เช่น เยอรมันเชพเพิร์ด เกรทเดน เซนต์เบอร์นาร์ด มักเกิดจากการกินอาหารเร็วและปริมาณมากในครั้งเดียว ทำให้มีทั้งอาหาร น้ำ และอากาศสะสมในกระเพาะจำนวนมาก ส่งผลให้กระเพาะพองขยายตัว (Bloat) เมื่อสุนัขมีการเคลื่อนไหวหรือกลิ้งตัว กระเพาะที่กำลังพองตัวอาจเกิดการบิดหมุนรอบตัวเอง ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดภาวะช็อก อาการที่สังเกตได้คือ ท้องบวมแข็ง พยายามอ้วกแต่อ้วกไม่ออก กระสับกระส่าย และหายใจเร็ว ภาวะนี้ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อผ่าตัดภายใน 2-3 ชั่วโมง มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว


3. การกลืนสิ่งแปลกปลอม 


เพราะปกติน้องหมานั้นมีนิสัยช่างสำรวจด้วยปาก โดยเฉพาะลูกสุนัขที่กำลังอยากรู้อยากเห็น อาจกลืนสิ่งของที่ไม่ใช่อาหารเข้าไป เช่น เศษของเล่น กระดูก เชือก หรือถุงพลาสติก สิ่งเหล่านี้อาจติดค้างในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดการอุดตัน ร่างกายจึงพยายามขับออกด้วยการอ้วก หากสงสัยว่าสุนัขกลืนสิ่งแปลกปลอม ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์และทำการเอกซเรย์


4. การเปลี่ยนอาหารอย่างกะทันหัน 


ระบบย่อยอาหารของสุนัขต้องการเวลาในการปรับตัวเมื่อเปลี่ยนชนิดอาหาร การเปลี่ยนแบบฉับพลันจะทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้เสียสมดุล เกิดการระคายเคืองกระเพาะ และอ้วก การเปลี่ยนอาหารควรค่อยๆ ผสมอาหารใหม่กับอาหารเดิม โดยเริ่มจากสัดส่วน 25:75 แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหารใหม่ทีละน้อยในเวลา 7-10 วัน


5. โรคติดเชื้อ 


การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารมักมาพร้อมอาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย ไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย โรคที่พบบ่อยได้แก่ พาร์โวไวรัส คอโรน่าไวรัส หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซัลโมเนลล่า ซึ่งสุนัขอาจได้รับเชื้อจากการกินอาหารที่ปนเปื้อน หรือการสัมผัสกับสุนัขที่ป่วยมา


6. การแพ้สารเคมีหรืออาหาร 


สุนัขอาจแพ้โปรตีนบางชนิดในอาหาร เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว หรือข้าวสาลี นอกจากนี้ยังอาจแพ้สารเคมีในบ้าน เช่น น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง หรือพืชบางชนิดที่เป็นพิษ เช่น ลิลลี่ ไม้ประดับบางชนิด อาการแพ้นอกจากอ้วกแล้วอาจมีผื่นคัน หายใจลำบาก หรือท้องเสียร่วมด้วย


7. ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง 


โรคเรื้อรังหลายชนิดมีผลต่อระบบย่อยอาหาร เช่น โรคตับทำให้มีสารพิษคั่งในร่างกาย โรคไตทำให้เกิดภาวะยูรีเมีย โรคตับอ่อนอักเสบทำให้การย่อยอาหารผิดปกติ สุนัขที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้จึงมักมีอาการอ้วกเป็นระยะ ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากสัตวแพทย์


8. ความเครียดและความวิตกกังวล 


เมื่อสุนัขเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเรียด ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ สถานการณ์ที่ทำให้สุนัขเครียดได้แก่ การถูกทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว จนเกิดอาการหมาเหงา การเจอคนแปลกหน้า เสียงดังรบกวน หรือการเปลี่ยนแปลงในบ้าน การช่วยให้สุนัขคุ้นเคยกับสถานการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เด็ก และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจะช่วยลดความเครียดได้


9. การเมารถ 


เกิดจากความไม่สมดุลของระบบการทรงตัวในหูชั้นใน ทำให้สมองรับรู้การเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกัน ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ น้ำลายไหล และอ้วก สังเกตได้จากสุนัขจะกระสับกระส่าย หอบ หรือร้องครางระหว่างเดินทาง การให้ยาแก้เมารถก่อนเดินทาง งดอาหารก่อนเดินทาง 4-6 ชั่วโมง และจัดที่นั่งให้มองเห็นวิวด้านหน้าจะช่วยลดอาการได้


10. ผลข้างเคียงจากยา 


ยาหลายชนิดอาจระคายเคืองกระเพาะ โดยเฉพาะยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ยาปฏิชีวนะบางตัว หรือยาเคมีบำบัด การให้ยาพร้อมอาหารจะช่วยลดการระคายเคืองได้ หากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนชนิดยา


 


ประเภทและลักษณะสำคัญของอาการอาเจียนในสุนัข


อาการอาเจียนในสุนัขสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งเจ้าของสามารถสังเกตได้ด้วยการพิจารณาจากลักษณะของอาเจียนที่พบ 

ประเภทอาเจียน

ลักษณะอาเจียน

สาเหตุที่พบบ่อย

อาเจียนเป็นเม็ดเล็ก ๆ

- ลักษณะค่อนข้างเหลว 

- เม็ดเล็กๆ มีลักษณะเหมือนผงกาแฟบด

- อาจมีเลือดปะปน

- มักเกี่ยวกับอาหาร 

- เกี่ยวข้องกับปัญหาในกระเพาะ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร

- ต้องการการตรวจสอบเพิ่มเติมจากสัตวแพทย์

อาเจียนออกมาเป็นก้อน

- มีเศษอาหารที่ไม่ย่อยปะปน

- อาจมีความเหลวเล็กน้อย

- มักเกี่ยวกับอาหาร 

- มักเกิดจากการกินอาหารเร็วเกินไป

- การออกกำลังกายทันทีหลังกินอาหาร

อาเจียนออกมาเป็นของเหลว

- ลักษณะเหลวมาก อาจมีสีเหลืองหรือใส

- อาจมีฟองหรือความหนืด

- มักไม่เกี่ยวกับอาหาร

- เกิดจากการระคายเคืองในกระเพาะหรือลำไส้

- อาจเกี่ยวข้องกับโรคตับหรือตับอ่อน

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

  • อาการอาเจียนบางประเภท เช่น อาเจียนเป็นของเหลว อาจสับสนกับอาการขากเสมหะได้ ดังนั้น ควรสังเกตอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ความถี่ของการอาเจียนหรือพฤติกรรมของสุนัข

  • หากพบอาการผิดปกติบ่อยครั้ง หรืออาเจียนมีเลือดปะปน ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม


 

สีของอาเจียนสุนัขบ่งบอกอะไรได้บ้าง?


สีของอาเจียนเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญที่ช่วยบ่งชี้สาเหตุและความรุนแรงของอาการในสุนัข เจ้าของควรสังเกตสีและลักษณะของอาเจียนเพื่อประเมินอาการเบื้องต้นและตัดสินใจพาไปพบสัตวแพทย์ได้ทันท่วงที มาดูกันว่าสีต่างๆ ของอาเจียนบ่งบอกถึงอะไรบ้าง


อาเจียนสีเหลือง มักพบในน้องหมาที่ท้องว่างและมีน้ำดีปนออกมาด้วย บ่งชี้ถึงการมีกรดสะสมในกระเพาะหรือภาวะกรดไหลย้อน หากพบบ่อยควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อปรับเรื่องมื้ออาหารและการรักษาที่เหมาะสม


อาเจียนสีน้ำตาล อาจเกิดจากอาหารไม่ย่อยในกรณีที่สุนัขกินอาหารเร็วเกินไป หรือบางครั้งอาจเกิดจากพฤติกรรมกินอุจจาระ (โคโพรฟาเจีย) ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขพฤติกรรมและตรวจหาสาเหตุทางการแพทย์


อาเจียนสีเขียว มักพบในสุนัขที่กินหญ้าหรือพืชสีเขียว หรืออาจเกิดจากน้ำดีที่ไหลย้อนขึ้นมาในกระเพาะก่อนการอาเจียน หากพบร่วมกับอาการอื่น ๆ ควรปรึกษาสัตวแพทย์


อาเจียนฟองขาว เกิดจากการที่กรดในกระเพาะถูกปั่นจนเกิดฟองก่อนถูกขับออกมา มักพบในสุนัขที่มีอาการคลื่นไส้หรือกระเพาะอาหารระคายเคือง อาจเกิดจากการกินอาหารไม่ย่อยหรือความเครียด


อาเจียนเป็นของเหลวใส มักเกิดเมื่อสุนัขดื่มน้ำมากในขณะที่มีอาการคลื่นไส้ หรือมีการสะสมของสารคัดหลั่งในกระเพาะ ควรจำกัดปริมาณน้ำและให้ดื่มทีละน้อยเพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะเพิ่ม


อาเจียนเป็นเมือก บ่งบอกถึงการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีการผลิตน้ำลายมากผิดปกติจนสะสมในกระเพาะและถูกขับออกมา อาจเกิดจากการแพ้อาหารหรือการติดเชื้อ


อาเจียนเป็นเลือด เป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน อาจบ่งชี้ถึงการมีแผลในกระเพาะ การอักเสบรุนแรง หรือการบาดเจ็บภายใน ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที


 


ควรทำอย่างไรเมื่อหมาอ้วก


เมื่อพบว่าน้องหมาอ้วก สิ่งแรกที่เจ้าของควรทำคือการสังเกตอาการเบื้องต้นและดูว่าจำเป็นต้องพาไปพบสัตวแพทย์หรือไม่ หากอาการไม่รุนแรง สามารถดูแลที่บ้านตามขั้นตอนเหล่านี้ได้


1. งดให้อาหารและน้ำทันที (Fasting)


การงดอาหารชั่วคราว 12-24 ชั่วโมงจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารได้พักและฟื้นตัว ระหว่างนี้ควรให้น้ำดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้งเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เมื่อเริ่มให้อาหาร ควรเลือกอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มกับไก่ต้ม หรืออาหารเฉพาะทางสำหรับสุนัขที่มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร


2.  การเสริมเกลือแร่และพลังงาน 


เมื่อน้องหมาอ้วก ร่างกายจะสูญเสียทั้งน้ำ เกลือแร่ และพลังงาน การให้สารละลายเกลือแร่ที่เหมาะสมจะช่วยทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป สามารถผสมน้ำตาลกลูโคสหรือเดกซ์โทรสในน้ำดื่ม (1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว) เพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย


หากเพื่อนๆ สังเกตเห็นอาหารที่น่าเป็นห่วง เช่นพบน้องหมาอ้วกมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน  ให้รีบพาน้องหมาไปพบแพทย์ทันที โดยปกติสัตวแพทย์จะเริ่มจากการให้ยาแก้คลื่นไส้ หรือ ยาลดกรด เพื่อบรรเทาอาการก่อน จากนั้นจึงตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง


 

การที่น้องหมาอ้วกถือเป็นสัญญาณที่เจ้าของต้องให้ความใส่ใจ การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งความถี่ของการอาเจียน สี ลักษณะ และอาการร่วมอื่นๆ จะช่วยให้เราประเมินความรุนแรงและตัดสินใจได้ว่าควรดูแลเบื้องต้นที่บ้านหรือต้องพบสัตวแพทย์ หากพบอาการที่ไม่รุนแรง เจ้าของสามารถดูแลน้อง ๆ เบื้องต้นตามคำแนะนำของ Yora Thailand ได้เลยนะครับ แต่หากพบอาการรุนแรง เช่น อาเจียนเป็นเลือด อาเจียนต่อเนื่องนานเกิน 24 ชั่วโมง มีไข้ หรือท้องบวมแข็ง ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้สุนัขฟื้นตัวได้เร็วขึ้น การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้น้องหมาที่เรารักมีสุขภาพแข็งแรงและอยู่เป็นเพื่อนคู่ใจเราไปได้อีกนาน ๆ




7 views0 comments

Comments


bottom of page