"โอ้โห! น้องอ้วนจังเลย น่ารักจัง!" เสียงทักทายที่เจ้าของสุนัขหลายคนมักได้ยินเมื่อพาน้องหมาออกไปเดินเล่น หรือบางบ้านอาจโดนเข้าใจผิดว่าหมาท้องอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่า ความอ้วนในสุนัขไม่ใช่เรื่องน่ารักอย่างที่หลายคนคิด เพราะนี่เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขาในระยะยาว วันนี้ Yora Thailand จะเพื่อน ๆ ไปสังเกตสัญญาณโรคอ้วนในสุนัข ตามไปดูสาเหตุ และวิธีการดูแลน้องหมาอ้วนให้กลับมามีน้ำหนักที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แบบไม่ต้องอดอาหารกันครับ
9 สัญญาณเตือนว่าน้องหมาของคุณกำลังอ้วนเกินไป
หลายคนอาจคิดว่าน้องหมาอ้วน ๆ กลม ๆ ดูน่ารัก น่ากอด แต่ความจริงแล้ว น้ำหนักที่มากเกินไปอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม มาดูกันว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าน้องหมาของเพื่อน ๆ กำลังมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก
1. รูปร่างทรงกลม ไร้เอว
เหล่าทาสหมาเคยสังเกตกันไหมครับว่าสุนัขที่แข็งแรง สุขภาพดี จะมีสรีระ เอวคอดเว้าสวยงาม ลองมองน้องหมาของเพื่อน ๆ จากมุมบนกันดูเพื่อเป็นการสังเกตน้องเบื้องต้น ว่าน้องหมาอ้วนเกินไปหรือเปล่า ถ้าเห็นแต่ความกลมป้อม ไม่มีส่วนเว้าที่เอวเลย นั่นอาจเป็นสัญญาณแรกที่บอกว่าน้องกำลังมีไขมันสะสมมากเกินไปหรือน้ำหนักเกิน เหมือนกับคนเราที่เมื่ออ้วนขึ้น เอวก็จะหายไป กลายเป็นทรงกลมหรือทรงแอปเปิ้ลนั่นเอง
ระดับความรุนแรง:
เอวเริ่มเลือนลาง: เริ่มมีปัญหา ควรเฝ้าระวัง
เอวหายไปสมบูรณ์: ต้องปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายแล้ว
ลำตัวกลมเป็นทรงไข่: ปัญหาหนัก ควรปรึกษาสัตวแพทย์
2. คลำซี่โครงยาก
อีกหนึ่งวิธิที่เจ้าของสุนัขสามารถเช็คได้ง่าย ๆ ว่าสุนัขอ้วนเกินไปไหม คือการลูบข้างลำตัวน้องหมาเบา ๆ พ่อ ๆ แม่ๆ ควรจะรู้สึกถึงซี่โครงได้โดยไม่ต้องออกแรงกดมาก แต่ถ้าต้องกดแรง ๆ หรือคลำไม่เจอซี่โครงเลย แสดงว่ามีไขมันสะสมมากเกินไปแล้ว
3. เหนียงและรูปร่างเปลี่ยน
อีกหนึ่งวิธิสังเกตง่ายๆ คือการดูจากใบหน้าและลำตัวด้านข้าง ถ้าเห็นเหนียงห้อยเป็นชั้น ๆ หรือลำตัวด้านข้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมแทนที่จะเป็นเส้นโค้งสวยงาม นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนของการมีไขมันสะสมมากเกินไป หรือในบางครั้งเพื่อน ๆ อาจเห็นก้อนเนื้อสั่นไปมาตามจังหวะการเดิน เหมือนวุ้นที่กำลังสั่น นั่นก็คือไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังนั่นเอง
4. เคลื่อนไหวเชื่องช้า
เหมือนกับคนที่มีน้ำหนักมาก น้องหมาที่น้ำหนักเกินมักจะเคลื่อนไหวช้าลงและเหนื่อยง่าย แค่เดินเล่นสั้น ๆ ก็หอบแฮ่ก ๆ แล้ว ไม่กระตือรือร้นที่จะวิ่งเล่นเหมือนเคย เพราะร่างกายต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป การเคลื่อนไหวจึงใช้พลังงานมากกว่าปกติ เหมือนกับคนที่แบกของหนักไว้ตลอดเวลาซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวทุกอย่างก็จะยากลำบากขึ้นนั่นเองครับ
อาการที่พบได้:
เดินช้าลง หรือเดินไม่ไหวในระยะไกล
ไม่อยากกระโดดหรือวิ่งเล่น
เหนื่อยง่าย หอบแรงหลังออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย
ลุกขึ้นนั่งหรือลุกขึ้นยืนลำบาก
5. หายใจผิดปกติ
ฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ความอ้วนส่งผลต่อการหายใจของน้องหมามากนะครับ! ไขมันที่สะสมไม่ได้อยู่แค่ใต้ผิวหนัง แต่ยังไปเกาะตามอวัยวะภายในด้วย ทำให้การทำงานของปอดและหัวใจลำบากขึ้น พ่อ ๆ แม่ ๆ อาจสังเกตเห็นได้ว่าน้องหายใจแรง หอบ หรือหายใจลำบากแม้จะอยู่เฉยๆ เหมือนคนที่ต้องหายใจเข้าออกผ่านหลอดที่แคบลงครับ
6. มีปัญหาการย่อยและขับถ่าย
เรื่องที่คนเลี้ยงหมาหลายคนอาจไม่รู้ก็คือ น้ำหนักตัวที่มากเกินมีผลโดยตรงกับระบบการย่อยอาหารของน้องหมา ลองสังเกตดูว่าน้อง ๆ มีอาการท้องผูกบ่อยขึ้นไหม หรือขับถ่ายไม่เป็นเวลาเหมือนเดิม นี่อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าน้องกำลังมีปัญหาเรื่องน้ำหนัก
ปัญหาท้องผูกในน้องหมาอ้วนเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการกินอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินความจำเป็น การเคลื่อนไหวน้อย ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้ากว่าปกติ เหมือนเวลาที่เราอิ่มมาก ๆ แล้วนอนนิ่ง ๆ ท้องก็จะอืดและรู้สึกไม่สบายตัวนั่นแหละครับ นอกจากนี้ การที่น้องหมาได้รับอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ อาจนำไปสู่ปัญหาตับอ่อนอักเสบได้ ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายและต้องรีบพบสัตวแพทย์ทันที
7. พฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
จากน้องหมาที่เคยซน ชอบวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น อาจกลายเป็นน้องหมาที่ชอบนอนอยู่เฉย ๆ สนใจแต่เรื่องกิน เหมือนกับคนที่เมื่อน้ำหนักขึ้นมาก ๆ ก็ไม่อยากขยับตัว ไม่อยากออกไปไหน น้องหมาก็เช่นกัน พวกเขารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องยากลำบาก จึงเลือกที่จะนิ่ง ๆ แทน
8. น้ำหนักพุ่งไม่หยุด
ถ้าเพื่อน ๆ สังเกตว่าน้องหมาเริ่มกินจุขึ้นเรื่อยๆ อ้อนขอขนมบ่อยขึ้น และน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนมาก! การกินมากเกินไปจะกลายเป็นวงจรที่ทำให้น้องยิ่งอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยิ่งอ้วน ก็ยิ่งขยับตัวน้อย และก็ยิ่งอ้วนขึ้นไปอีก
9. น้ำหนักเกินมาตรฐานของสายพันธุ์
แต่ละสายพันธุ์มีน้ำหนักมาตรฐานที่แตกต่างกัน เช่น ชิวาวาควรหนักประมาณ 1.8-4 กิโล ในขณะที่โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ควรหนักประมาณ 27-34 กิโล ถ้าน้องหมาที่บ้านมีน้ำหนักเกินมาตรฐานของสายพันธุ์มากกว่า 20% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์อ้วนที่ต้องได้รับการดูแลแล้ว
การสังเกตสัญญาณเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้พ่อๆ แม่ๆ สามารถดูแลและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมน้องหมาได้ทันท่วงที ก่อนที่ความอ้วนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะการมีสุขภาพดีคือของขวัญล้ำค่าที่เราสามารถมอบให้กับเพื่อนตัวน้อยของเราได้!
สาเหตุที่ทำให้น้องหมาอ้วน
การให้อาหารเกินพอดี หลายครั้งที่เราแสดงความรักกับน้องหมาผ่านการให้อาหารและขนม โดยเฉพาะเวลาที่น้องทำตาปริบๆ มาอ้อนขอ เราก็มักจะใจอ่อนและให้อาหารเพิ่ม คิดว่าแค่ชิ้นสองชิ้นคงไม่เป็นไร แต่พอสะสมไปเรื่อย ๆ ก็สามารถกลายเป็นสาเหตุหลักของโรคอ้วนโดยไม่รู้ตัว
การเคลื่อนไหวน้อยเกินไป ชีวิตคนเมืองทุกวันนี้เร่งรีบ หลายคนทำงานกลับบ้านดึก ทำให้ไม่มีเวลาพาน้องออกไปวิ่งเล่น หรือบางบ้านอยู่คอนโด พื้นที่จำกัด การออกกำลังกายของน้องก็น้อยลงไปด้วย แถมบางครั้งอากาศร้อน ฝนตก เราก็มักจะงดพาน้องเดินเล่น ทำให้น้องได้เคลื่อนไหวน้อยกว่าที่ควร
ปัจจัยทางพันธุกรรม บางสายพันธุ์มีแนวโน้มที่จะอ้วนง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น เช่น ลาบราดอร์ บีเกิ้ล ปั๊ก หรือคอร์กี้ เพราะยีนส์ของเขาทำให้อยากกินตลอดเวลาและเผาผลาญช้า ถ้าเพื่อนน ๆ เลี้ยงสายพันธุ์เหล่านี้ ต้องระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษ
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หลังทำหมัน น้องหมามักจะอ้วนขึ้น เพราะฮอร์โมนเพศที่ลดลงมีผลต่อการเผาผลาญ หรือบางตัวอาจมีปัญหาไทรอยด์ ทำให้อ้วนง่ายกว่าปกติ เหมือนคนที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์ทำงานช้า ถึงจะกินน้อยก็อ้วนได้
อาหารไม่เหมาะสม การให้อาหารคนกับน้องหมาเป็นประจำ เช่น ข้าว ขนมหวาน อาหารทอด เป็นสาเหตุใหญ่ของโรคอ้วน เพราะอาหารพวกนี้มีแคลอรี่สูง แถมยังไม่ได้ออกแบบมาสำหรับระบบย่อยของสุนัขอีกด้วย
ผลกระทบต่อสุขภาพ
1. ข้อต่อและกระดูกเสื่อม
เวลาที่น้องหมาอ้วน ข้อต่อและกระดูกต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินกว่าที่ธรรมชาติออกแบบมา โดยเฉพาะขาหน้าที่ต้องรับน้ำหนักถึง 60% ของน้ำหนักตัว เหมือนกับการที่เราต้องแบกกระเป๋าหนัก ๆ ไว้ตลอดเวลา นานวันเข้า ข้อต่อก็เริ่มเสื่อม เกิดอาการปวด ทำให้น้องเดินลำบาก ไม่อยากวิ่งเล่น และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้
2. หัวใจทำงานหนัก เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
ลองนึกภาพว่าคุณกำลังปั่นจักรยานขึ้นเขาพร้อมกับแบกของหนัก หัวใจต้องเต้นแรงและเร็วขึ้นเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ นั่นคือสิ่งที่หัวใจของน้องหมาอ้วนต้องทำตลอดเวลา เพราะต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไขมันที่มีมากเกิน เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักแบบนี้เป็นเวลานาน ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้
3. เสี่ยงเป็นเบาหวานสูง
เมื่อน้องหมามีไขมันสะสมมากเกินไป ร่างกายจะเริ่มดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตฮอร์โมนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด จนในที่สุดตับอ่อนอาจเหนื่อยล้าและทำงานบกพร่อง นำไปสู่โรคเบาหวาน ซึ่งต้องรักษาและควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดไปตลอดชีวิต
4. เพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัด
ความอ้วนไม่เพียงสร้างปัญหาในชีวิตประจำวัน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัดด้วย เพราะสัตวแพทย์จำเป็นต้องใช้ยาสลบในปริมาณที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ทำให้น้องต้องพักฟื้นนานกว่าปกติและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น
5. อายุสั้นลง
ที่น่าเศร้าที่สุดคือ โรคอ้วนทำให้อายุขัยของน้องหมาสั้นลง จากการศึกษาพบว่าสุนัขที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมักมีอายุสั้นกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักปกติถึง 2-3 ปี นั่นหมายความว่าเราอาจสูญเสียเวลาแห่งความสุขกับน้องไปโดยไม่จำเป็น
5 วิธีดูแลน้องหมาอ้วน แบบไม่ต้องอดอาหาร
1. เริ่มจากการขยับ สู่การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสำหรับน้องหมาอ้วนไม่จำเป็นต้องหักโหมตั้งแต่แรก เริ่มจากการขยับเบา ๆ ก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีแล้ว แต่ละสายพันธุ์มีความต้องการที่แตกต่างกัน สุนัขพันธุ์ทั่วไปอาจวิ่งเล่น ว่ายน้ำ หรือเล่นจับลูกบอลได้อย่างสนุกสนาน แต่สำหรับน้องหน้าสั้นอย่างปั๊กหรือชิสุ อาจต้องระวังเรื่องการหายใจ การเดินเล่นช้า ๆ ในช่วงเช้าหรือเย็นอาจเหมาะสมกว่า ที่สำคัญคือต้องค่อย ๆ ปรับให้น้องคุ้นเคย ไม่บังคับจนเกิดความเครียด
2. เลือกอาหารอย่างชาญฉลาด
การควบคุมอาหารไม่ใช่การอดอาหาร แต่เป็นการให้อาหารที่ใช่ในปริมาณที่เหมาะสม แบ่งมื้ออาหารเป็น 2-4 มื้อต่อวันเพื่อกระตุ้นการเผาผลาญ เลือกอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ ไขมันต่ำเพื่อควบคุมแคลอรี และกากใยสูงเพื่อให้อิ่มนาน อาหารเม็ดคุมน้ำหนักคุณภาพดี อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอาหารทำเอง เพราะควบคุมปริมาณสารอาหารได้แม่นยำกว่า
3. ปรับการให้ขนมใหม่
แทนที่จะงดขนมทั้งหมดซึ่งอาจทำให้น้องเครียด ลองใช้ขนมเป็นรางวัลหลังออกกำลังกายแทน เลือกขนมที่แคลอรีต่ำ และเมื่อให้ขนม อย่าลืมลดปริมาณอาหารมื้อหลักลงเล็กน้อย วิธีนี้จะช่วยให้น้องเรียนรู้ว่าการออกกำลังกายนำมาซึ่งสิ่งดี ๆ และยังควบคุมแคลอรีรวมต่อวันได้ด้วย
4. จำกัดอาหารเปียก
อาหารเปียกมักมีแคลอรีสูงกว่าอาหารเม็ดในปริมาณที่เท่ากัน หากยังอยากให้น้องได้กินอาหารเปียกบ้าง ลองใช้วิธีโรยหรือคลุกเคล้ากับอาหารเม็ดในปริมาณน้อย ๆ เพียงเพื่อเพิ่มความน่ากิน แทนการให้เป็นมื้อหลัก วิธีนี้จะช่วยควบคุมแคลอรีได้ดี แต่น้องหมายังได้ความอร่อยเหมือนเดิม
5. ปรับกิจวัตรใหม่
ความรักที่มีต่อน้องหมาไม่จำเป็นต้องแสดงออกผ่านการให้อาหารเสมอไป การใช้เวลาคุณภาพร่วมกันสำคัญกว่า ลองพาน้องออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่อนุญาตให้สุนัขเข้าได้ สร้างความทรงจำดี ๆ ด้วยกัน น้องหมาส่วนใหญ่ชอบอยู่กับเจ้าของมากกว่านอนรอที่บ้าน การออกไปทำกิจกรรมด้วยกันจะช่วยสร้างความผูกพันและทำให้การควบคุมน้ำหนักเป็นเรื่องสนุก ไม่น่าเบื่อ
การช่วยให้น้องหมาอ้วนกลับมามีน้ำหนักที่เหมาะสมไม่ใช่เรื่องยาก แค่ใส่ใจและค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน ที่สำคัญคือความสม่ำเสมอและความอดทน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องใช้เวลา แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือสุขภาพที่ดีและความสุขที่ยั่งยืนของน้องหมา
โรคอ้วนในสุนัขไม่ใช่แค่เรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก แต่เป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิด การสังเกตสัญญาณเตือนตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เราจัดการปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้นการดูแลน้ำหนักของน้องหมาจึงไม่ใช่แค่การทำเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพและความสุขที่ยั่งยืนของทั้งน้องหมาและเจ้าของ เพราะการมีสุขภาพดีคือของขวัญล้ำค่าที่สุดที่เราจะมอบให้กับเพื่อนสี่ขาของเราได้
บ้านไหนที่กำลังควมคุมน้ำหนักของน้องหมาอยู่ ก็สามารถเลือกน้อง ๆ ทาน Yora Thailand อาหารสุนัขเกรดพรีเมี่ยมนำเข้าจากประเทศอังกฤษได้นะครับ เรามีสูตรสำหรับสุนัขที่ควบคุมน้ำหนัก ซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนจากแมลงสูง ไขมันต่ำ ดีต่อร่างกายน้องและดีต่อโลกแน่นอนครับ
Комментарии